วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

รู้ไว้ใช่ว่า… 8 โรคร้ายของนักศึกษา

• โรคที่หนึ่ง นอนตื่นสาย
อาการ เข้าห้องเรียนสายประจำ หรือไม่เข้าเลย
วิธีป้องกันรักษา เข้านอนให้เร็วกว่าเดิม เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอ ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ในที่ที่ต้องเดินไปปิด ห้ามเอาไว้ใกล้เตียง อย่าคุยกับเพื่อนจนดึก เพราะโรคนี้สามารถติดต่อทางการพูดคุยจนลืมเวลานอน
• โรคที่สอง ง่วงนอนในห้องเรียน
อาการ เหม่อลอย หรือแอบหลับในห้องเรียน (เป็นประจำ) มักพบในรายวิชาที่เรียน 8 โมงเช้าหรือหลังอาหารกลางวัน
วิธีป้องกันรักษา สาเหตุมีหลายประการ เช่น นอนไม่พอ วิธีแก้ไข นอนให้พอซะทุกอย่างจะดีเอง ฟังอาจารย์พูดแล้วง่วง วิธีแก้ไข ต้องคิดตามและพยายามจดจะทำให้ไม่ง่วงอีกต่อไป แถมเข้าใจมากขึ้นอีกต่างหาก ถ้ายังง่วงอยู่ให้เพื่อนข้าง ๆ หยิกแรง ๆ จะได้ตื่น
• โรคที่สาม ผีดิบดูดเลือด
อาการ มักออกอาการช่วงใกล้สอบ ขอบตาจะเขียวคล้ำ มองแบบไร้จุดมุ่งหมาย เหม่อลอยเหมือนจะเดินทะลุกำแพงได้
วิธีป้องกันรักษา ต้องจัดตารางเวลาให้ดี อ่านหนังสือและทบทวนทุกวัน ทำ short note เวลาอ่านหนังสือ เพื่อจะได้อ่านเพียงแค่ไม่กี่แผ่นก่อนเข้าห้องสอบ
• โรคที่สี่ ไม่สบายช่วงใกล้สอบ
อาการ ปวดหัวตัวร้อน ปวดท้อง เป็นหวัด
วิธีป้องกันรักษา โดย มากสาเหตุมาจากความเครียด วิธีแก้ไขพยายามอย่าเครียด ให้ออกกำลังให้สม่ำเสมอ อย่ากดดันตัวเองเกินไปในการเรียน พยายามทำให้ดีที่สุด
• โรคที่ห้า WWW
อาการ ไม่ ใช่อาการที่ติด internet จนไม่เป็นอันทำอะไร แต่เป็นอาการที่ลงวิชาเดิมซ้ำแล้ว ซ้ำอีกเป็นจำนวน 3 ครั้งและทุกครั้งก็ขอถอนรายวิชาก่อนที่จะสอบปลายภาค บางคนอาการหนักหน่อยก็จะได้ Women WWW (WWWW) มักพบในกลุ่มนักศึกษาที่ลงเรียน Calculus หรือวิชาคำนวณอื่น ๆ
วิธีป้องกันรักษา ทำ แบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นวิชาคำนวณ ต่อให้เรียนหนักอย่างไรแต่ไม่ฝึกทำแบบฝึกหัดก็คงจะผ่านวิชานี้ลำบาก และอย่าท้อ หรือมีอคติกับวิชาก่อนที่จะได้เรียน
• โรคที่หก Pro ต่ำ
อาการ จะ พบโรคนี้ประมาณเทอมสามเป็นต้นไปของนักศึกษาปี 1 และทุกเทอมของนักศึกษาปีอื่น ๆ อาการคือ สำหรับนักศึกษาปี 1 GPAX. ของทั้งสามเทอมต่ำกว่า 1.80 หรือสำหรับนักศึกษาปีอื่น ๆ คือเป็นเทอมแรกที่มี GPAX. ต่ำกว่า 1.80
วิธีป้องกันรักษา ถ้าติด โรคนี้แล้วต้องรักษาโดยการวางแผนการลงทะเบียนใหม่ เลือกลงวิชาที่ถนัดและต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องได้ A ไม่ใช่ขอแค่ผ่าน ถ้ายังไม่ติดโรคนี้วิธีป้องกันคือ ตั้งใจเรียน และต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า A เท่านั้นที่เราต้องการเพราะถ้าพลาดได้ B, C ก็ยังไม่เลวร้าย แต่ถ้าคิดแค่ว่าขอแค่ผ่าน (ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าแค่ผ่านคือ ไม่ F เป็นการเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงนะคะ) ขอแค่ผ่าน คือ ต้องได้อย่างต่ำ C ทุกวิชา เพราะนั้นคือ GPAX. = 2.00
• โรคที่เจ็ด Pro สูง
อาการ คล้าย ๆ โรค Pro ต่ำ แต่ดีกว่าหน่อยตรงที่ GPAX. ต่ำกว่า 2.00 แต่มากว่า 1.80
วิธีป้องกันรักษา เช่นเดียวกับโรค Pro ต่ำ
• โรคที่แปด รีไทร์
อาการ พบโรคนี้ได้ทุกเทอม อาการคือ GPAX. ต่ำกว่า 1.00 (สำหรับนักศึกษาปี 1 ในเทอมที่ 1 และ 2) 1.50 (สำหรับนักศึกษาปี 1 ในเทอมที่ 3) 1.80 แต่มากกว่า 1.50 สองภาคเรียนต่อเนื่องกัน (สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี) 2.00 สี่ภาคเรียนต่อเนื่องกัน (สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี)
วิธีป้องกันรักษา วิธีป้องกันเช่นเดียวกับโรค Pro ต่ำ วิธีรักษาเอนท์ใหม่เท่านั้น!!!!
โอ.. ถ้าอยากเรียนจบพร้อมเพื่อนๆ กรุณาหลีกเลี่ยง 8 โรคนี้ ให่ได้นะคะ ^-^

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

พ่อที่รักยิ่ง

พ่อคือยศ ที่ลูกรักผูกติดตัว
พ่อคือไฟ ที่ลูกน้อยคอยสองแสง
พ่อคือน้ำ ที่ลูกนี้คอยดื่มกิน
พ่อคือคน ที่ลูกลูกรักรักเอย

วันพ่อนี้ ขอให้พ่อจงสุขใจ
วันพ่อนี้ ขอให้พ่อจงสุขสันต์
วันพ่อนี้ ขอให้พ่อสุขสำราญ
วันพ่อนี้ ขอให้พ่ออมยิ้มเอย

รักพ่อสุดหัวใจ

กำลังใจ จากคนใด ไม่เท่าพ่อ
เรี่ยวแรงหมด ทดท้อ พ่อเติมให้
รักจากพ่อ ก่อด้วยแสง ของแรงใจ
รักของพ่อ สุมอุ่นไอ ไฟนำทาง
เพราะรักพ่อ ลูกจึงขอ เอ่ยขอโทษ
ถึงไม่เห็น พ่อเคยโกรธ โทษลูกไว้
ลูกรู้ตัว เคยทำชั่ว มั่วสิ่งใด
เห็นน้ำตา พ่อทีไร หน่ายตัวเอง
ความมืดมัว กลัวผู้คน ล้นปัญหา
แสงเทียนดับ หลับตา ยังมองเห็น
รักของพ่อ ยังก่อสร้าง ทางที่เป็น
จุดแสงไฟ ให้มองเห็น เป็นคนดี
ร้องไห้โฮ พ่อก็โผ ประคองไว้
พ่อลูบหลัง ยังฝังใน ไออุ่นนี้
โตขึ้นมา กลับไม่คิด ผิดกี่ที
กลับทำให้ พ่อคนดี มีน้ำตา
รอยเท้าพ่อ ก้าวย่าง อย่างมั่นคง
กี่ขวากหนาม คว่ำลง เผชิญหน้า
พ่อคือผู้ เนรมิต จิตวิญญา
ให้ลูกคิด ลูกกล้า มุ่งหน้าเดิน
ความอ่อนโยน คืออุ่นไอ ได้จากพ่อ
ความเข้มแข็ง แกร่งพอ ที่พ่อให้
ประสานรวม ร่วมเป็นหนึ่ง ซึ่งดวงใจ
ประทับใน ตัวลูกนี้ นิรันดร
เห็นพ่อท้อ เห็นพ่อเหนื่อย สุดกำลัง
แต่ใบหน้า ของพ่อยัง คงยิ้มได้
สองขายืน ฝืนทนสู้ อยู่เพื่อใคร
รู้อยู่เต็ม เปี่ยมหัวใจ ทำเพื่อเรา

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนเรียนเป็น ครู ควรอ่าน ? ต่อ

คุณสมบัติของครูอาจารย์ที่ดี
1. ประพฤติตัวให้เป็นที่รัก (ปิโย)
2. มีใจหนักแน่นทำตนให้น่ายำเกรง (ครุ)
3. อบรมตนเองสม่ำเสมอ (ภาวนีโย)
4. ฉลาดสอน ฉลาดพูด (วตฺตา)
5. อดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน (วจนกฺขโม)
6. พูดเรื่องลึกซึ้งให้เข้าใจลึกซึ้งได้ (คมฺภีรํ กถํ กตฺตา)
7. ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสียหาย (โน จฎฺฐาเน นิโยชเย)
หน้าที่ของครูอาจารย์พึงมีต่อศิษย์
1. แนะนำดี
2. ให้เรียนดี
3. บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง
4. ยกย่องให้ปรากฎในเพื่อนฝูง
5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย
หน้าที่ของศิษย์พึงมีต่อครูอาจารย์
1. ให้การต้อนรับ
2. เสนอตัวรับใช้
3. เชื่อฟัง
4. คอยปรนนิบัติ
5. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

คนที่เรียนเป็น “ครู” ควรอ่าน

"ครู - อาจารย์" ที่ดีเป็นอย่างไร?
การเป็นครูที่ดีมีหลักการ ดังนี้
1. ครูต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ขันและยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ
2. มีความยุติธรรมและวินัย
3. ต้องเฉลียวฉลาดรู้เรื่องวิชาการเป็นอย่างดี
4. ต้องมีความเมตตากรุณา และอดทน
5. สร้างตัวอย่างที่ดี
ดังคำที่ว่า "ครูคือ แม่พิมพ์ของชาติ" ครูต้องเป็นตัวอย่างที่อยู่ในใจของเด็ก เป็นแบบอย่างที่ดีในทุก ๆ ด้านให้เด็กยึดถือ, ปฏิบัติ
6. เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ทุกคนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล
7. พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบากใจ
8. อย่ายอมแพ้ จงเชื่อมั่นในทุกสิ่ง
9. ให้รางวัลเป็นสิ่งจูงใจ และให้คำชมสม่ำเสมอ “ถูกแล้ว ดีมาก เยี่ยม!......”

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

รอยไม้เรียว

ดุจเรือจ้าง...นำทาง...ให้ผองศิษย์
ได้สัมฤทธิ์...สมมาด...ปรารถนา
ด้วยวิชา...ความรู้...ที่เรียนมา
จากครูบา..ผู้ที่...มีพระคุณ

ขอบูชา...คุณท่าน...ไว้ในจิต
ตรองถูกผิด...คิดยั้ง..ดัวยคำหนุน

แนวทางครู...ชี้ให้...ไว้เป็นทุน
ด้วยน้ำใจ...การุณ...ศิษย์ทุกครา

รอยไม้เรียว...น้ำลาย...และไอปาก
ที่ครูฝาก...ให้ไว้...ยังมีค่า
ย้ำเตือนศิษย์...ได้ดี...เสมอมา
น้อมสักกา...คารวะ...พระคุณครู

เปรียบ"แสงเทียน

คำว่า " ครู "เปรียบไว้ได้หลายอย่าง
เปรียบ"เรือจ้าง"รับส่งผู้โดยสาร
ให้พ้นห้วงมหาชลาธาร
ได้ข้ามผ่านถึงฝั่งสมตั้งใจ

เปรียบ"แม่พิมพ์"กล่อมเกลาเฝ้าหล่อหลอม
ทั้งโอบอ้อมการุณย์หนุนนำให้
ปลูกฝังซึ่งคุณธรรมผ่องอำไพ
ให้ก้าวไปตามครรลองของชีวา

เปรียบ"แสงเทียน"ส่องสว่างทางมืดมิด
เพื่อให้ศิษย์แจ่มกระจ่างทางศึกษา
จากไม่รู้ทั้งเขลาเบาปัญญา
กลับเก่งกล้าเลิศล้ำเพราะพร่ำเรียน

คือ"ปูชนียบุคคล"เปี่ยมล้นค่า
ควรบูชาเคารพนบนอบเศียร
ทั้งกายใจจิตวิญญาณท่านเฝ้าเพียร
เพื่อนักเรียนเติบใหญ่นั้นได้ดี

ขอทดแทนบุญคุณที่หนุนเนื่อง
ชาติรุ่งเรืองเพราะคุณครูกู้ศักดิ์ศรี
พร้อมอุทิศใจกายหมายมอบพลี
เป็นคนดีที่น่ายลชนชื่นชม

ร่วมเชิดชูครูไทยด้วยใจมั่น
ที่สร้างสรรค์บ่มเพาะความเหมาะสม
ในวันครูที่สิบหกมกราคม
ขอกราบก้มไหว้ครูดีศรีแผ่นดิน

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จรรยาบรรณวิชาชีพครู

จรรยาบรรณวิชาชีพครู
การให้ เป็นสิ่งดี ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักและเป็นที่มาของศรัทธา ครูเป็นผู้ให้ความรู้และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่ศิษย์ ครูเช่นนี้จึงเป็นที่รักของศิษย์ ครูที่มีจริยวัตรงามย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีต่อศิษย์ และเป็นผู้ที่ทำให้วงการวิชาชีพครูมีเกียรติ ควรแก่การยกย่องบูชา จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติ 9 ข้อดังนี้

จรรยาบรรณข้อที่ 1
ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า

จรรยาบรรณข้อที่ 2
ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้ แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ

จรรยาบรรณข้อที่ 3
ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้ง ทางกายวาจา ใจ

จรรยาบรรณข้อที่4
ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์

จรรยาบรรณข้อที่ 5
ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการ ปฏิบัติหน้าที่
ตามปกติ และไม่ให้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ

จรรยาบรรณข้อที่ 6
ครูย่อมพัฒนาตนทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ให้ทันต่อพัฒนาการทางวิทยาการ
เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณข้อที่ 7
ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครุ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู

จรรยาบรรณข้อที่ 8
ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์

จรรยาบรรณข้อที่ 9
ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ครูผู้เป็นเรือจ้าง

เรือจ้าง

“ครู” ประดุจ “เรือจ้าง” ใครช่างเปรียบ
“ครู” ควรเทียบฟ้ากระจ่างกว้างไพศาล
“ครู” ตักเตือนเมตตา-อภิบาล
“ครู” สอนสั่งวิชาการ...วิชาคน


เป็นผู้แนะนำให้ได้ประจักษ์
ว่าด้วยหลักวิทยา – หาเหตุผล
และเตือนย้ำคุณธรรมประจำตน
นั้นจะดลให้ชิวิต “ศิษย์” ได้ดี

หากแนวทางที่ “ลูกศิษย์” คิดผิดพลาด
“ครู” ไม่อาจภาคภูมิได้ ในศักดิ์ศรี
ประหนึ่งว่าคนพาย “เรือจ้าง” ลำนี้
ทำหน้าที่ขาดตกบกพร่องไป


เรือเทียบฝั่งเข้าส่งตรงริมท่า
“คนโดยสาร” รู้เถิดว่า เหนื่อยแค่ไหน
“คนพายเรือ” ถ่อนำค้ำด้วยใจ
ขอเพียงให้ “ศิษย์” สมหวังดังกมล


“ครู” ประดุจ “เรือจ้าง” ใครช่างเปรียบ
“ครู” ควรเทียบแสงสว่างกลางไพรสณฑ์
เป็นแสงทองส่องชี้ชีวิตคน
พระคุณล้นเกินรำพรรณจำนรรจา


แม้ไม่มีข้าวตอก- ดอกไม้หอม
ประดับพร้อมเป็นพุ่มพานอันหรูหรา
แต่ขอนำจิตร้อยถักอักษรา
ประณตน้อม “สักกาฯ” พระคุณ “ครู”

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เตือนตน

อ่านตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้เป็น
เห็นตัวเองให้ชัด จัดตัวเองให้ถูก
ยิ้มเมื่อถูกเยาะ หัวเราะเมื่อถูกเย้ย
เฉยเมื่อถูกเย้า แล้วใจเราจะสบาย

ในโลกนี้ มีอะไรไม่มีคู่เห็นกันอยู่ทั่วถ้วนล้วนเป็นสอง
แม้พระอาทิตย์ยังมีพระจันทร์ปอง
ได้พบพ้องบางครั้งเป็นบางครั้ง เป็นบางคราว
ร้อนคู่เย็น เห็นเด่นชัดถนัดแน่
เกิดแล้วแก่ตายรุม หนุ่มคู่สาว
หมาคู่แมว แจวคู่พาย บ่ายคู่เช้า
ดำคู่ขาว ยาวก็มี ดีคู่เป็น
แต่ยืนแกะกะอยู่ ก็มีแต่พระกับเณรนั่นแหละ
อดข้าวเย็นเสียจนงอม ยอมหัวโต

บทกลอนเตือนใจ

บางสิ่งไม่ควรจำ
ถ้ามันทำให้เราเจ็บ
แต่บางสิ่งก็ควรเก็บ
หากเป็นความเจ็บที่น่าจำ

สุขทุกข์ อยู่ที่ใจมิใช่หรือ
ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่ใช่สุกใส
ถ้าไม่ถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ
แล้วเราจะเลือกเอาความสุขหรือทุกข์ดี

วันไหนๆไม่สำคัญเท่าวันนี้
เพราะวันนี้สำคัญกว่าวันไหน
ถึงพรุ่งนี้มะรืนนี้คืออย่างไร
ก็ยังไม่สำคัญเท่าวันไหน

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สิ่งที่เป็นความจริง

ความฝันของเด็กบ้านนอก
อนาคตคือสิ่งที่มันไม่แน่นอนดังนั้นคนเราทุกคนต้องมีชีวิตต่อไปเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มันไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า “อนาคต” หลายคนอาจจะสงสัยถ้าหากว่ากล่าวเช่นนี้เพราะเราจะต่อสู้กับอนาคตได้อย่างไรเมื่ออนาคตที่ว่ามันยังมาไม่ถึง หากว่าคุณคิดแบบนี้อยากให้คุณเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ จริงอยู่ถึงแม้อนาคตที่ว่ามันยังมาไม่ถึงแต่คนเราอย่าลืมว่าทุกคนมีอดีตถ้าพูดถึงอดีตปัจจุบันหรือตอนนี้ก็คืออนาคตของอดีตนั่นเอง ดั่งนั้น อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตก็คือสิ่งที่ไม่แน่นอนเสมอ ด้วยเหตุนี้เราทุกคนก็เลยต้องดิ้นรนและต่อสู้กับจอมปีศาจที่น่ากลัวและโหดร้ายยิ่งกว่าสิ่งใดๆ นั่นคือ “กาลเวลา”หรือ “เวลา” ปีศาจที่ไม่มีใครและสิ่งใดที่จะสามารถหยุดมันได้ บางคนอาจจะเถียงว่าหยุดมันได้ แต่ที่ว่าหยุดได้นั้นคือหยุด (ในความฝัน) ได้ยินอย่างนี้แล้วหลายคนถึงกับอมยิ้ม แต่อย่าลืมว่าคุณก็คือหนึ่งในนั้นผู้หยุดเวลาได้คนหนึ่ง แต่มันก็ต้องฝันเหมือนกัน (แล้วหยุดในความฝัน)เช่นเดียวกัน ในขนาดที่เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตทุกๆวินาที อย่าลืมว่า ปีศาจกาลเวลาได้เดินหน้าไปยังจุดจบของมันหรือที่เรียกว่า เวลาเที่ยงคืน 24 นาฬิกา แล้วมันก็จะเริ่มเดินใหม่ (ที่ว่าจุดจบน่ากลัวจัง) การเกริ่นนำนี้ไม่ได้เป็นการล้อเล่นและอำใครเป็นอย่างใดเลยแค่อยากจะบอกกับทุกๆคนว่า ชีวิตคนทุกคนจะมีจุดจบเหมือนเวลาเหมือนเช่นกันหรือที่เรียกว่าจุดจบของชีวิต คนไม่เหมือนเวลาเพราะคนไม่สามารถตื่นมาเดินได้ใหม่เหมือนเวลา จุดจบของชีวิตที่ว่าก็คือความตาย สิ่งที่คนหรือสัพสิ่งบนโลกไม่อาจหลุดพ้น ด้วยเหตุนี้จงใช้ชีวิตทุกวินาทีอย่างมีสติและให้มีคุณค่ามากที่สุด สิ่งสำคัญที่สุคือต้อง คิดดี พูดดี ทำดี สุดท้ายท้ายสุดเป็นคนดี ของครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และ โลก ด้วย ดั่งคำที่ว่า

“ เอาความดีเป็นแกนกลางทางชีวิต
เอาความคิดเป็นเครื่องช่วยอำนวยผล
เอาแรงกายเป็นกลไกภายในตน
นี่คือคนมีคุณค่าราคางาม ”
เจริญสุขสวัสดี
(ความฝันของเด็กบ้านนอก)

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หน้าที่ของครูโดยแท้

“การฝึกผู้ไม่รู้ให้รู้ ไม่จำเป็นต้องลงโทษเฆี่ยนตี ต้องสอนแบบไม่บังคับ ไม่เฆี่ยนตี เพราะการเฆี่ยนตีคือโทสะ เหมือนการทำให้น้ำขุ่นจะไม่เห็นตัวปลา จิตไม่สงบก็ไม่เกิดปัญญา...ครูสามารถฝึกลิงได้ด้วยความรักและเมตตา”

“ครูที่เป็นครูต้องสอนศิษย์ได้ทุกคน จะเลือกรับเฉพาะคนฉลาดเท่านั้นไม่ได้ เพราะถ้าคัดเลือกโดยสอบเข้า เท่ากับปฏิเสธคนอีกจำนวนมากไม่ให้มีโอกาสเรียน แปลว่าสังคมมีการแบ่งแยกและทอดทิ้งคนที่สอบไม่ได้ แล้วเด็กที่สอบคัดเลือกเข้าที่ไหนไม่ได้หรือเด็กที่โง่นั้นจะเอาไปไว้ที่ไหน ใครจะรับผิดชอบคนเหล่านั้น”